หารือความร่วมมือสนับสนุน ICT เพื่อการศึกษา

KRUPUNMAI SHARE

ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือกับ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  เกี่ยวกับความร่วมมือการสนับสนุนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อการศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (Chief Information Officer : CIO) และผู้บริหารด้านนโยบายและแผน/ยุทธศาสตร์ ของทั้งสองกระทรวง ร่วมหารือ

รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่วมกันว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) มาใช้เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาของไทย

โดยทั้งสองกระทรวงต่างได้ทำการบ้านสำหรับการประชุมหารือในครั้งนี้ กล่าวคือ ต่างมีคำถามและคำตอบที่สอดคล้องกัน สำหรับในสิ่งที่ ศธ.ต้องการขอความช่วยเหลือ ทาง ทก.ก็มีคำตอบที่จะได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือเป็นอย่างดี ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้เกือบจะสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง จึงเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อลงรายละเอียดการทำงานว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไร เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีตั้งแต่ปี 2559 เพราะ ทก.ได้รับงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งของงบประมาณดังกล่าวจะนำมาช่วยพัฒนาการศึกษา

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาของการใช้ ICT เพื่อการศึกษาว่า ที่ผ่านมากระทรวงทั้งสองมีการดำเนินงานร่วมกันน้อยมาก ทั้งๆ ที่ ทก.เป็นผู้ดูแลระบบ ICT ของประเทศ นอกจากนี้งบประมาณในการดูแลระบบ ICT ของ ศธ.ยังมีความซ้ำซ้อนอยู่ในองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เมื่อได้วางแผนบูรณาการงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ในองค์กรหลักเข้าด้วยกัน จะทำให้เหลืองบประมาณที่สามารถนำไปพัฒนา ICT ในสถานศึกษาที่ยังขาดแคลนได้อีก 8,000 แห่ง รวมทั้ง ทก. ก็ได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนา ICT ไปยังสถานศึกษาเพิ่มอีกกว่า 4,000 แห่ง จากความร่วมมือดังกล่าวยิ่งจะทำให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลเร็วขึ้น

นอกจากการหารือความร่วมมือข้างต้นแล้ว ยังได้หารือถึงการพัฒนาเครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่ง ทก.ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ซึ่งจะให้ กศน.ตำบล เป็นศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฐานราก สร้างโอกาสทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระดับชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบัน กศน.ตำบลมีจำนวน 7,424 แห่ง และปัจจุบันเป็นศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน 268 แห่ง แต่ความร่วมมือครั้งนี้จะขยายเป็น 1,680 แห่ง เพื่อให้การศึกษาครอบคลุมผู้เรียน กศน. ซึ่งมีจำนวนกว่า 1.2 ล้านคนมากยิ่งขึ้น โดย ศธ.จะให้นักศึกษาอาชีวะไปให้ความช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงในการสอนแก้ปัญหาระบบไอที เบื้องต้นให้ประชาชนในชุมชนอีกด้วย  ทำให้เห็นว่าความร่วมมือดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย 1+1=3 ของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากความร่วมมือนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณได้ เพราะหากต่างคนต่างทำจะไม่สามารถเติมเต็มและแก้ปัญหาต่างๆ ได้

นอกจากนี้ ได้หารือถึงการดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสมในสถานศึกษา ด้วยการส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้เทคโนโลยี ICT ด้วย

รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ได้เกิดความร่วมมือหลายเรื่อง เช่น ความร่วมมือด้านโครงข่ายเพื่อการศึกษา เช่น การวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังสถานศึกษาทุกสังกัด, การสนับสนุนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปยัง กศน. ตำบลทั้งหมด 7,424 แห่ง ในระยะแรก 3 ปีต่อเนื่อง ตลอดจนให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะฟรีผ่านสื่อสัญญาณทั้งใยแก้วนำแสง (Fiber Optics) ความเร็ว 30 Mbps, ไวไฟ (Wifi) ความเร็ว 10-30 Mbps, ดาวเทียม (Satellite) ความเร็ว 4/2Mbps

นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาเครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยให้ กศน.ตำบล ทั้ง 7,424 แห่ง เป็นกลไกการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ประชาชนในชนบท ซึ่ง กศน.ตำบลมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแล้ว 3,200 แห่ง และยังไม่มีอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต 4,224 แห่ง ในจำนวนศูนย์ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็จะได้รับการปรับกายภาพและบทบาทให้เป็นศูนย์ ICT ชุมชน ซึ่งจะขยายเป็นศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน และพัฒนาไปเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนในระยะต่อไป โดยวางเป้าหมายให้ปี 2559 มีศูนย์ดิจิทัลชุมชนเกิดขึ้น 2,231 แห่ง และศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัลครบทุกตำบล

ที่ประชุมยังได้หารือถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Space) ซึ่งได้ดำเนินการ 4 โครงการที่สำคัญ คือ โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (สกอ.), โครงการคลังความรู้ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (สป.ศธ.), โครงการ DLIT, โครงการบูรณาการเรียนรู้สู่อาชีพ และวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและมาตรฐานวิชาชีพสู่สากล (สอศ.) โดย ศธ.เห็นชอบการสนับสนุนเชิงนโยบายที่จะให้มีการบูรณาการโครงการที่มีรูปแบบ คล้ายกัน ให้เป็นคลังสื่อหรือสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึง ได้ ให้สามารถเชื่อมโยงกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนและความสะดวกของผู้ใช้งานให้สามารถค้นหาและใช้ งานสื่อการเรียนรู้จากหลายระบบได้ในที่เดียว หรือ Single Sign-on

อีกประเด็นหนึ่งที่ได้เห็นชอบร่วมกันในครั้งนี้ คือ โครงการดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตและไฟฟ้าไปยังโรงเรียนพื้นที่ชายขอบห่างไกล รวมทั้งจัดหาสื่อการเรียนรู้ โดยในปี 2559 ทก.จะได้นำร่อง 20 แห่ง คือ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา กศน. 10 แห่ง, โรงเรียน สพฐ. 1 แห่ง, โรงเรียน ตชด. 9 แห่ง และเพื่อความยั่งยืนของโครงการเมื่อสิ้นสุดโครงการนำร่อง จะขอความร่วมมือจากสำนักงาน กศน.และ สพฐ. สนับสนุนงบประมาณเป็นค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ค่าดูแลรักษา ค่าแอพพลิเคชั่นต่างๆ โดยเฉลี่ยโรงเรียนละ 6 แสนบาทต่อปียกเว้นโรงเรียนขนาดใหญ่ สพฐ. 1 โรง จำนวน 1 แสนบาทต่อปี

Rate this post

KRUPUNMAI SHARE

Check Also

15 มี.ค.นี้ คุรุสภาเริ่มใช้ข้อบังคับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่

KRUPUNMAI SHARE ...

@ เว็ปไซต์ เพื่อข้อมูลข่าวสารทางด้านการศึกษา www.krupunmai.com @ ครูพันธุ์ใหม่ดอทคอม @