การศึกษา ‘สุจิตต์’ช่วยยัน’สุนทรภู่’ไม่ขี้เมา ถามงาน90%เขียนตอนบวช

KRUPUNMAI SHARE

‘สุจิตต์’ช่วยยัน’สุนทรภู่’ไม่ขี้เมา ถามงาน90%เขียนตอนบวช จะแอบเมาตอนไหน? ปลื้มคนไทยถกเถียง ส่อสัญญาณสังคมพัฒนา

สืบเนื่องจากกระแสถกเถียงในประเด็นที่ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ออกมาแสดงความเห็นว่า ไม่เชื่อเรื่องสุนทรภู่เป็นคนขี้เมา เนื่องจากผลงานมีจำนวนมหาศาล หากขี้เมาคงไม่สามารถทำได้ อีกทั้งไม่มีหลักฐานด้านประวัติศาสตร์รองรับ ไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนใหญ่มีเพียงการอ้างถึงข้อความใน “นิราศภูเขาทอง” ที่ว่า “ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน” ซึ่ง ผศ.ดร.รุ่งโรจน์มองว่าไม่ใช่หลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่าสุนทรภู่เป็นคนขี้เมา จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน ซึ่งค้นคว้าเรื่องราวของสุนทรภู่โดยเรียบเรียงเป็นเอกสารจำนวนมาก กล่าวว่า แนวคิดที่ว่าแท้จริงๆ แล้วสุนทรภู่ไม่ใช่คนขี้เมานั้น มีผู้นำเสนอไว้นานแล้ว โดยเฉพาะนักปราชญ์อย่าง ศาสตราภิชานล้อม เพ็งแก้ว ซึ่งเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องปริมาณผลงานสุนทรภู่ซึ่งมีจำนวนมหาศาล เมื่อนำมาคำนวณแล้วพบว่าสุนทรภู่จะต้องเขียนผลงานทุกวัน ไม่มากก็น้อย ดังนั้นศาสตราจารย์จึงไม่เชื่อว่าสุนทรภู่ขี้เมา

นายสุจิตต์ยังกล่าวอีกว่า อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ ผลงานเกือบทั้งหมดของสุนทรภู่ คือราว 90% ถูกสร้างขึ้นขณะบวชเป็นพระภิกษุ ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่อาจแอบดื่ม นายสุจิตต์ตอบว่า ไม่รู้ แต่ถ้าถึงกับขี้เมานั้น ยืนยันว่าไม่เชื่อ เนื่องจากวัดที่สุนทรภู่บวช ไม่ใช่วัดเล็กๆ ที่ห่างไกล หากแต่เป็นวัดใหญ่ในพระนคร คือวัดเทพธิดาราม โดยกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระธิดาในรัชกาลที่ 3 ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์

“ผลงาน 90% ของสุนทรภู่ เขียนตอนบวช จะเอาเวลาจังหวะไหนไปเมา อย่าลืมว่าวัดเทพธิดารามไม่ใช่วัดกระจอกๆ จะได้แอบกินเหล้าจนเมาได้ไม่มีใครรู้ ต้องถึงหูเจ้านายอยู่แล้ว” นายสุจิตต์กล่าว
สำหรับกระแสการถกเถียงในขณะนี้ นายสุจิตต์กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะนำเสนอข้อมูลต่อสังคมให้ร่วมกับขบคิด ตำราเรียนไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป และต้องขอบคุณโซเชียลเน็ตเวิร์กและนายมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก เนื่องจากตนเขียนเรื่องเหล่านี้มาเป็นสิบปี ไม่เห็นมีกระแส ส่วนการที่สังคมมีความเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ขอให้อย่ายึดติดความรู้จากความเชื่อเดิมโดยไม่เปิดใจ โดยเฉพาะหลักฐานด้านประวัติศาสตร์

ที่มา   http://www.matichon.co.th/news/192294

Rate this post

KRUPUNMAI SHARE

Check Also

15 มี.ค.นี้ คุรุสภาเริ่มใช้ข้อบังคับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่

KRUPUNMAI SHARE ...

@ เว็ปไซต์ เพื่อข้อมูลข่าวสารทางด้านการศึกษา www.krupunmai.com @ ครูพันธุ์ใหม่ดอทคอม @