ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสร้างคำในภาษาไทย เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ภาษาไทย
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นางรัชนี วงศ์วิลาศ
โรงเรียน โรงเรียนบ้านบุ่งง้าว ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การสอนภาษาไทยในปัจจุบันเน้นการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ภาษาเพื่อแก้ปัญหาการดำรงชีวิตและปัญหาของสังคม การสอนภาษาในฐานะเครื่องมือของการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน การสอนภาษาไทยจะต้องเน้นการรักษาภาษาไทยในฐานะเป็นวัฒนธรรม การถ่ายทอดวัฒนธรรมที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ในรูปของหลักภาษา ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จึงมีความมุ่งหมาย เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างคำในภาษาไทย เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของรูปแบบการสร้างคำในภาษาไทยที่พัฒนาขึ้นและเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะกฎเกณฑ์ทางภาษา เรื่อง การสร้างคำ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านบุ่งง้าว อำเภอ ยางสีสุราช สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 11 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้มี 3 ชนิด คือ แบบฝึกทักษะกฎเกณฑ์ทางภาษา เรื่องการสร้างคำ จำนวน 5 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.25 ถึง 0.68 มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.79 และแบบสอบถามวัดความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะกฎเกณฑ์ทางภาษา เรื่องการสร้างคำ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า รูปแบบการสร้างคำในภาษาไทย เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 86.90 / 89.10 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้และมีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ แสดงว่านักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนร้อยละ 76.55 และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะกฎเกณฑ์ทางภาษา เรื่อง การสร้างคำ อยู่ในระดับมากที่สุดโดยสรุป การพัฒนารูปแบบการสร้างคำในภาษาไทย เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเหมาะสมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด จึงสมควรส่งเสริมให้ครูภาษาไทยนำรูปแบบการสร้างคำเหล่านี้ไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามจุดประสงค์ของรายวิชาต่อไป