“ดาว์พงษ์”แจงเลิกเรียนบ่ายสอง ไม่ใช่เด็กต้องกลับบ้านทุกคน

KRUPUNMAI SHARE

ศธ.สนอง นโยบาย"นายกฯ" ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คืนความสุขให้นักเรียน แจงเลิกเรียนบ่ายสองโมงไม่ใช่ให้กลับบ้านทั้งหมด โรงเรียนมีมีกิจกรรมพัฒนาเพิ่มทักษะความรู้ เริ่มนำร่อง 3,500 โรง เทอม 2/58 

      เมื่อวันที่ 28 ส.ค.58 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบาย"การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิดเรื่องนโยบายว่าการลดเวลาเรียนโดยเข้าใจว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้เลิกเรียนในเวลา 14.00 น. แต่ไม่มีการขยายความว่า เจตนาการปรับลดเวลาเรียนให้น้อยลง เป้าหมายเพื่อให้เด็กไม่ต้องเครียดจนเกินไป ตามนโยบายของรัฐบาล และได้มอบให้ ศธ.มาทำการศึกษาดูความเป็นไปได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ก็ได้ไปศึกษา และดูแล้วว่ามีความเป็นไปได้ คือสามารถลดการเรียนวิชาหลักลงได้ จากเดิมเด็กต้องเรียน 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือ 840 ชั่วโมงต่อปี โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งเด็กเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา และเห็นว่าน่าจะสามารถเลิกเรียนได้ในเวลา14.00 น.

     อย่างไรก็ตาม ศธ.ได้พิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยถ้าให้เลิกเรียนเวลาดังกล่าว ซึ่งก็พบว่า มีผู้ปกครองบางกลุ่มไม่พร้อมที่จะรับเด็กกลับบ้าน เพราะติดภาระหน้าที่การงาน กลัวลูกจะได้รับอันตราย และสบายใจที่จะให้ลูกอยู่ในโรงเรียนมากกว่า ส่วนผู้ปกครองอีกกลุ่ม อาจจะมีภาระทางบ้ารที่อยากให้พี่มาช่วยเลี้ยงน้อง มาช่วยดูแลบ้าน

     "ทั้งสองส่วนนี้ ไม่ได้ห้าม ถ้าจะกลับบ้านก็ได้ แต่ส่วนที่ไม่พร้อมรับเด็กกลับบ้านโรงเรียน จะมีกิจกรรมที่มีความสุขให้เด็กในช่วงบ่าย แนวทางนี้จะตอบคำถามของนายกรัฐมนตรี ที่ให้จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข และครูมีความสุข หากเด็กได้เลิกเรียนเวลา 14.00 น. ไปทำกิจกรรม เล่นกีฬา ดนตรี ครูพาไปทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ได้โดยกิจกรรมนั้นต้องไม่ใช่การเพิ่มการบ้านให้เด็ก ซึ่งตอนนี้ สพฐ. อยู่ระหว่างจัดทำกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้โรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้ โดยจะต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำให้เด็กเครียด แม้กระทั่งจะให้เด็กนั่งทำการบ้านในเวลาสองชั่วโมงก่อนกลับบ้านก็สามารถทำ ได้" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

     พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้คือแนวคิดซึ่ง สพฐ.รับโจทย์ไปดำเนินการ และได้เริ่มวางแนวทางปรับลดเวลาเรียนดังกล่าวไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง และจะเริ่มนำร่องใน 3,500 โรงเรียนที่มีความพร้อมหรือคิดเป็น 10% ของจำนวนโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสพฐ.ทั้งหมด ในภาคเรียนที่ 2/2558 เดือน พ.ย.58 จากนั้นจะประเมินผล ดูว่ามีผลตอบรับในด้านบวกหรือลบ เพื่อทำการปรับปรุงและขยายผลต่อไป ขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่จึงต้องทำแบบนำร่อง ภายใต้หลักคิดดังกล่าว ไม่ใช่ให้เลิกเรียนแล้วเด็กกลับบ้าน ขอให้ใช้คำนี้ว่า ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้ไปทำกิจกรรมพัฒนาสมองเด็ก

** สพฐ.ยันไม่ปล่อยเด็กออกนอกโรงเรียน

     ด้าน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การปรับลดเวลาเรียนโดยเลิกเรียนเวลา 14.00 น. เป็นไปตามข้อเรียกร้องของสังคมที่มองว่าเด็กเรียนมากเกินไป สพฐ.จึงปรับลดเวลาเรียนลงโดยในช่วงเช้าจนถึงเวลา 14.00 น.จะเรียนวิชาหลัก หลังจากนั้นจะให้เด็กเรียนวิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติ อาทิ ศิลปะ นาฎศิลป์ ดนตรี พลศึกษา การงานพื้นฐานอาชีพ หรือทำกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต อาทิ สอนว่ายน้ำ ทำกับข้าว เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งการสอนเสริมโดยเฉพาะการสอนทำการบ้าน ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ซึ่งแต่ละโรงเรียนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน โดยเร็วๆ นี้ สพฐ.จะเชิญ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา และผอ.โรงเรียน มาประชุมเพื่อร่วมกันออกแบบการจัดตารางกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งจะมีประมาณ 6-7 รูปแบบให้โรงเรียนนำร่องได้เลือกใช้ตามความสมัครใจ คาดว่ากลางเดือน ก.ย.นี้ น่าจะได้รูปแบบที่ชัดเจน

     "ยืนยันว่าเลิกเรียนบ่าย 2 โมงแล้ว สพฐ.ไม่ได้ให้ปล่อยเด็กออกนอกโรงเรียน หรือให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน เพราะเข้าใจความจำเป็นของผู้ปกครองที่ต้องทำงาน เวลาเลิกเรียนยังคง เหมือนเดิม แต่ในระหว่างนี้จะให้เด็กทุกคนได้ทำกิจกรรมเสริมความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านสังคม อารมณ์ และร่างกาย เพิ่มเติมจากเรื่องของสติปัญญา ยกเว้นเด็กที่มีความจำเป็นต้องกลับไปช่วยผู้ปกครองทำงานซึ่งก็จะมีเพียงเล็ก น้อย"

      เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า เรื่องนี้ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกาและในยุโรปก็ทำอยู่ ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าเด็กเรียนน้อยความรู้จะหดหายหรือไม่นั้น ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่าเด็กเรียนมาก แต่ไม่ได้เอาไปใช้ สพฐ.จึงปรับลดเวลาเรียนวิชาหลักลง แต่ยังคงเนื้อหาไว้ที่เหลือนักเรียนจะต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมโดยการลงมือ ค้นคว้าและทำกิจกรรม อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งกำชับว่าทุกกิจกรรมที่ทำห้ามเรียกเก็บเงินจากนักเรียนในทุกกรณี หากมีการเรียกเก็บเงินจะถือว่ามีความผิด

ที่มา   

Rate this post

KRUPUNMAI SHARE

Check Also

15 มี.ค.นี้ คุรุสภาเริ่มใช้ข้อบังคับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่

KRUPUNMAI SHARE ...

@ เว็ปไซต์ เพื่อข้อมูลข่าวสารทางด้านการศึกษา www.krupunmai.com @ ครูพันธุ์ใหม่ดอทคอม @