รมช.ศธ.รับข้อสอบโอเน็ตค่อนข้างยาก ชี้เป็นปัญหาเรื้อรังมาจากมาตรฐานหลักสูตรกว้างขวางไม่ชัดเจน ลั่นต้องปรับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เล็งเปิดสเปกข้อสอบให้เด็กรู้ล่วงหน้าว่าจะสอบเรื่องอะไร ด้าน สทศ.รับเรื่องต่อไปจะพัฒนาไม่ให้ข้อสอบยากหรือง่ายเกินไป
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์
ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วยนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (ผอ.สทศ.) แถลงข่าวกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์และเผยแพร่ข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับ ชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ทางโซเชียลมีเดีย โดยนพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า ข้อสอบที่เผยแพร่ไม่ใช่ข้อสอบโอเน็ตที่ใช้สอบในปีการศึกษา 2558 ทั้งหมด แต่เป็นข้อสอบโอเน็ตของหลายๆ ปีรวมกัน มีเพียงข้อสอบวิชาสังคมที่ถามเกี่ยวกับกฎหมายไทยข้อเดียวเท่านั้นที่เป็นข้อ สอบโอเน็ตของปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับในภาพรวมข้อสอบของ สทศ.ค่อนข้างยาก หากดูเฉพาะผลสอบ 9 วิชาสามัญที่เพิ่งประกาศผลไป ที่พบว่าแต่ละวิชาเด็กได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 คะแนนเท่านั้น มีเพียงวิชาภาษาไทยที่ได้คะแนนเฉลี่ยเกินครึ่งวิชาเดียว โดยได้คะแนนอยู่ที่ 56.65 คะแนน
รมช.ศธ.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การออกมาชี้แจงครั้งนี้คงไม่ได้เป็นการมาแก้ตัวอะไร แต่คงต้องพูดคุยในส่วนของการปรับปรุงที่จะต้องทำทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การกำหนดมาตรฐานหลักสูตร กลางน้ำ การจัดการเรียนการสอน และปลายน้ำคือ การวัดประเมินผล เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมกันวิเคราะห์ว่าเกิดความผิดพลาดจาก จุดใด และจากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบว่า ปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่การเขียนมาตรฐานหลักสูตรที่มีขอบเขตกว้างขวาง ไม่มีรายละเอียดชัดเจน ส่งผลต่อการออกข้อสอบที่บางครั้งคำถามไม่ชัดเจน ดังนั้นหลังจากนี้ผู้รับผิดชอบการเขียนหลักสูตรจะต้องไปปรับปรุง และในการสอบทุกชนิดจะต้องมีการเปิดเผยรายละเอียด สเปกของข้อสอบว่าจะสอบเรื่องอะไรแบบไหนอย่างไร พร้อมตัวอย่างข้อสอบให้เด็กได้ทราบล่วงหน้า ไม่ใช่ให้ต้องมาเซอร์ไพรส์ในวันสอบ และการที่มีการเปิดเผยข้อสอบจะถือว่าเป็นการคัดกรองข้อสอบไปในตัว และ สทศ.ยังสามารถประเมินความยาก ง่ายของข้อสอบก่อนสอบ ไม่ใช่ประเมินหลังสอบ
นอกจากนี้ยังมอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งมีหน้าที่ในการประเมินผลการศึกษาของประเทศ เชิญนักวิชาการ ตลอดจนสถาบันทดสอบที่ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ เช่น สิงคโปร์ อังกฤษ มาประเมินการทดสอบของ สทศ. เพื่อพัฒนาการทดสอบต่างๆ ให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับต่อไป อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ตนหวังว่า เมื่อมีการปรับระบบการออกข้อสอบแล้ว เรื่องแบบนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก หากเกิดขึ้นจะต้องมีคนรับผิดชอบ
ด้านนายสัมพันธ์กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบข้อสอบโอเน็ตที่จัดสอบ เมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เบื้องต้นพบว่ายังไม่มีข้อไหนผิดพลาด ส่วนข้อสอบวิชาสังคม คำถามที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียก็ไม่ตรงกับคำถามจริงข้อสอบ โดยในโซเชียลถามว่า “ข้อใดไม่ใช่กฎหมายไทย” ขณะที่คำถามจริงถามว่า “ข้อใดต่อไปนี้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายไทย” ส่วนคำตอบที่ถูกต้องมีเพียงข้อเดียว คือ ข้อ 5 ที่ตอบว่า “นายเดือนหมิ่นประมาทชาวไทยด้วยกัน ในขณะท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น” เพราะถือเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ต้องใช้กฎหมายในประเทศญี่ปุ่น ส่วนข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชา เป็นข้อสอบที่ใช้ในการในการคัดเลือกเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย จึงต้องมีความยากกว่าข้อสอบโอเน็ต และยอมรับว่าข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชาปีนี้ยากกว่าปกติ มีอัตราการจำแนกต่ำ จึงทำให้คะแนนออกมาต่ำ ซึ่งต่อไป สทศ.จะต้องไปพัฒนาข้อสอบให้มีความยากที่เหมาะสม ไม่ยากหรือง่ายเกินไป สามารถคัดเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ตรงตามความต้องการและสามารถเรียนจบ.