ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุม MOC โดยมี รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ผศ.ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), ผู้แทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันคีนันแห่งเอเชีย เข้าร่วมประชุม
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
การกำหนดนิยาม "สะเต็มศึกษา" (STEM Education) คือ แนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ในการเชื่อมโยงหรือแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21
การกำหนดจุดมุ่งหมายของกิจกรรมสะเต็ม 4 ประการ คือ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้เชื่อมโยงหรือแก้ไขปัญหาในชีวิตจริง, เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่, เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 อาทิ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม ตลอดจนการรู้เท่าทันสื่อ และเพื่อหล่อหลอมคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้แก่ผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบ ความมีวินัย ซื่อสัตย์ อดทนเป็นต้น
แนวทางการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา โดยจะมีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติที่เน้นการคิดวิเคราะห์ ค้นคว้า เชื่อมโยง และบูรณาการองค์ความรู้ทุกศาสตร์ เพื่ออธิบายเหตุการณ์หรือตอบโจทย์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต และส่งเสริมการทำโครงงานวิทยาศาสตร์เชิงนวัตกรรมเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักต่อสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนแนวสะเต็มศึกษา จะจัดกิจกรรมในแต่ละชั้นปีให้สอดคล้องกับมาตรฐานและสาระการเรียนรู้ ใน 6 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 ระบุปัญหาในชีวิตจริงที่พบ หรือนวัตกรรมที่ต้องการพัฒนา
ขั้นตอนที่ 2 รวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา หรือนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมนั้น
ขั้นตอนที่ 3 ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา โดยเชื่อมโยงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์
ขั้นตอนที่ 4 วางแผนและดำเนินการแก้ปัญหา หรือพัฒนานวัตกรรม
ขั้นตอนที่ 5 ทดสอบ ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขวิธีการแก้ปัญหา หรือนวัตกรรมที่พัฒนาได้
ขั้นตอนที่ 6 นำเสนอวิธีการแก้ปัญหา ผลการแก้ปัญหา หรือผลของนวัตกรรมที่พัฒนาได้
เครือข่ายการดำเนินงานสะเต็มศึกษา เป็นการร่วมกันดำเนินงานระหว่างศูนย์สะเต็มศึกษาภาค 13 แห่ง มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง 13 แห่ง และมหาวิทยาลัยเครือข่ายสะเต็มศึกษา 25 แห่ง ได้แก่
ลำดับ |
ภูมิภาค |
จังหวัด |
โรงเรียนที่เป็นศูนย์ |
มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง |
1 |
เหนือตอนบน |
เชียงใหม่ |
ยุพราชวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
2 |
เหนือตอนล่าง |
พิษณุโลก |
พิษณุโลกพิทยาคม |
มหาวิทยาลัยนเรศวร |
3 |
ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (1) |
อุดรธานี |
อุดรพิทยานุกูล |
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี |
4 |
ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (2) |
ขอนแก่น |
แก่นนครวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยขอนแก่น |
5 |
ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (1) |
นครราชสีมา |
สุรนารีวิทยา |
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี |
6 |
ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (2) |
อุบลราชธานี |
เบ็ญจะมะมหาราช |
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
7 |
ตะวันออก |
ชลบุรี |
ชลราษฎรอำรุง |
มหาวิทยาลัยบูรพา |
8 |
กลางตอนบน |
นนทบุรี |
ศรีบุณยานนท์ |
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
9 |
กลางตอนล่าง |
นครปฐม |
พระปฐมวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยศิลปากร |
10 |
กรุงเทพฯ (1) |
กรุงเทพฯ |
สามเสนวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยมหิดล |
11 |
กรุงเทพฯ (2) |
กรุงเทพฯ |
บดินทร์เดชา |
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
12 |
ใต้ตอนบน |
นครศรีธรรมราช |
เบญจมราชูทิศ |
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ |
13 |
ใต้ตอนล่าง |
สงขลา |
หาดใหญ่วิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
เป้าหมายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในโรงเรียน ขอให้มีการเชิญชวนโรงเรียนที่ดำเนินการสะเต็มศึกษาอยู่แล้ว รวมทั้งโรงเรียนที่อยู่ในโครงการสานพลังประชารัฐฯ และโรงเรียนอื่นๆ ที่มีความพร้อมมาเข้าร่วมด้วย โดยมอบให้คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาทบทวนแนวทางการคัดเลือกโรงเรียนให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นตั้งเป้าจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา ปีการศึกษา 2559 ในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาละ 10 โรงเรียน รวม 2,250 โรงเรียน และกลุ่มครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในโรงเรียนเป้าหมาย 17,220 คน
ที่มา http://www.moe.go.th/websm/2016/apr/158.html