นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงที่ประชุมสะเต็มศึกษา ซึ่งมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการจัดกลุ่มพัฒนาโรงเรียนสะเต็มศึกษา 3 กลุ่มเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 2,495 โรง ได้แก่ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มโรงเรียนนำร่อง 2,250 โรง ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ยังไม่เคยจัดการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมสะเต็มศึกษามา ก่อน โดยคัดจากเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 225 เขต เขตละ 10 โรง ประกอบด้วยโรงเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีความพร้อม จำนวน 154 โรงเรียน มีการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาอย่างเข้มข้น ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและคำแนะนำการจัดการเรียนการสอนหลัก สูตรสะเต็มศึกษาแก่โรงเรียนอื่นๆ อาทิ กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เป็นต้น และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มโรงเรียนศูนย์สะเต็มศึกษาระดับภาค จำนวน 13 โรง ทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้กับบุคลากร ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีเครือข่ายโรงเรียนสะเต็มศึกษาอีก 78 โรงคอยช่วยเหลือการทำงานด้วย
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้รมว.ศึกษาธิการมีข้อเสนอแนะว่าควรจะประสานไปยังสถาบันอุดมศึกษาที่ อยู่ในพื้นที่ให้เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย2,495 โรง ทั้งในด้านการสนับสนุนองค์ความรู้สร้างความเข้าใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ไปประสานกับสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเบื้องต้น สสวท.ได้แจ้งว่าปัจจุบัน สสวท.ได้ร่วมมือ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 26 แห่ง และมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีก 11 แห่ง เป็นเครือข่ายในการพัฒนาสะเต็มศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งจากนี้ก็จะไปประสานเพื่อขอความร่วมมือเพิ่มเติม เป้าหมายสำคัญเพื่อให้การจัดการสอนสะเต็มศึกษาเป็นไปอย่างเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวปิดท้ายว่า รมว.ศึกษาธิการ มอบโจทย์ให้ทุกฝ่ายไปคิดด้วยว่า เป้าหมายการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในคราวนี้ ผลสัมฤทธิ์ที่จะต้องเกิดขึ้นมีเรื่องอะไรบ้าง จะมีอะไรเป็นตัวชี้วัด แต่ที่แน่ๆ ก็คือสพฐ.หวังว่าคะแนนผลการประเมินในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานา ชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA หรือพิซ่า จะสูงขึ้น ส่วนในเรื่องที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน รมว.ศึกษาธิการ ก็ให้ไปคิดถึงผลที่คาดหวังจะให้เป็น อาทิ ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีทักษะเกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดไอเดียต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรม หรือเส้นทางอาชีพ เป็นต้น จากนั้นจะนำมาเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับการพัฒนาหลักสูตรสะเต็มศึกษา คู่มือการจัดการเรียนการสอน ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการจัดอบรมบุคลากร โดยจะเริ่มขับเคลื่อนการสอนสะเต็มศึกษาอย่างเต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายน 2559 นี้