26 ส.ค.59 รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดรับนักเรียนเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ ของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) กว่า 4 แสนคน แต่เข้าเรียนผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือ แอดมิชชั่น เพียง 1 แสนคน ดังนั้น จึงมีการหารือเพื่อปรับปรุงระบบการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดม ศึกษา ภายใต้กติกาว่า เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบ ไม่เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
ซึ่งระบบใหม่คือ "การสอบรับตรงร่วมกัน" นี้จะช่วยแก้ปัญหาการสอบในอนาคต โดยจะจัดในช่วงเวลาเดียวกัน หลังจากที่เด็กเรียนจบชั้น ม.6 แล้ว มีสนามสอบกระจายทั่วประเทศ โดยให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้จัดสอบ ใช้ข้อสอบเดียวกัน อีกทั้งมหาวิทยาลัยจะต้องเปิดเผยข้อมูล และองค์ประกอบที่ใช้ในการรับเด็กเข้าเรียนและจำนวนที่เปิดรับ ทั้งระบบโควตา และระบบอื่นๆ ด้วย ซึ่งวิธีนี้ อาจจะคล้ายกับระบบเอ็นทรานซ์เดิม ซึ่งเด็กจะไม่รู้คะแนนล่วงหน้า เลือกแล้วถ้าสอบไม่ได้ก็พลาดเลย แต่อันใหม่นี้เด็กจะรู้คะแนนก่อนแล้วเลือกสมัครเรียนในคณะ/สาขา ที่คะแนนสามารถเข้าเรียนได้ 4 อันดับ เด็กก็จะถูกคัดเลือกโดยมหาวิทยาลัย จากนั้นมหาวิทยาลัยจะส่งชื่อเข้าระบบเคลียริงเฮาส์ เพื่อแจ้งผลการคัดเลือกไปยังเด็ก และคนที่สามารถสอบติดหลายที่ก็จะต้องเลือกว่าจะเข้าเรียนที่ใด ส่วนที่นั่งที่เหลือในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็จะเปิดรับสมัครเด็ก เพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์รอบ 2 เท่ากับว่า เด็กจะมีโอกาส 2 ครั้ง และสามารถเลือกสมัครเข้าเรียนได้ถึง 8 อันดับ
“การใช้ระบบการสอบรับตรงร่วมกันนี้ เด็กแทบจะไม่ต้องวิ่งรอกสอบเลย มีสนามสอบทั่วประเทศ เมื่อเด็กสอบแล้วก็เอาคะแนนไปสมัครเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ผ่านระบบออนไลน์ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายที่เด็กต้องเสีย เรายังไม่ได้หารือกัน แต่เท่าที่ดูคิดว่าเด็กจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 2 ส่วน คือ ค่าสมัครสอบในแต่ละวิชา กับค่าเคลียริงเฮาส์ " นพ.กำจร กล่าว
ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า วันนี้ตนได้สอบถาม คณะที่มาเข้าพบซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แทน มรภ.และ มทร. ว่าเห็นด้วยกับระบบนี้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะระบบนี้ยึดเด็กเป็นหลัก ตนไม่อยากให้เอาเด็กเป็นเหยื่อ ให้เด็ก ม.6 มาวิ่งสอบกันทั้งปีได้อะไรขึ้นมา ซึ่งระบบใหม่นี้ถ้ารู้ว่าแย่งเด็กกันอีก จึงเตรียมไม้ 2 ไว้ คือหากหลักสูตรใดมีเด็กสมัครเกินแล้ว หรือเต็มแล้ว ก็ให้ประกาศคะแนนรวมได้เลย เด็กจะได้ไม่เข้าไปสมัครอีก เพื่อให้แต่ละหลักสูตรมีผู้สมัครพอสมควร ไม่ใช่รับสมัครจนล้นหลาม ขณะเดียวกัน มรภ.ก็อย่าคิดว่ารับภายหลังเดี๋ยวจะได้เด็กดีหรือไม่ดี เพราะเป็นธรรมชาติของเด็กที่จะเลือกจนกว่าจะมีที่เรียน
นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) นครราชสีมา ในฐานะประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า ทปสท.เห็นด้วยกับระบบการสอบรับตรงร่วมกัน และคิดว่าจะเข้าร่วมกับระบบนี้ เพื่อให้การรับนักศึกษาเป็นระบบเดียวกัน เพราะเป็นประโยชน์กับเด็กมากและคิดว่าเป็นประโยชน์มากกว่าระบบคัดเลือกแบบ เดิม ซึ่งทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงจำนวนมาก ซึ่งการรับตรงมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ จะได้ประโยชน์ และเด็กต้องเตรียมตัวเพื่อสอบรับตรงตั้งแต่ ม.5 ทำให้เป็นภาระเด็กเพราะเด็กต้องวิ่งรอกสอบ และเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก สำหรับในส่วนของ มรภ.นั้น หากรับเด็กผ่านระบบเคลียริงเฮาส์ คิดว่าคงไม่กระทบมากนัก เพราะปัจจุบัน มรภ.ก็เปิดรับนักศึกษาภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยรัฐอยู่แล้ว ดังนั้น มรภ.เองคงต้องปรับตัวโดยเพิ่มคุณภาพ และเน้นจัดการเรียนการสอนในสาขาที่ถนัด และมีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เด็กหันมาเลือกสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏมากขึ้น
ที่มา http://www.naewna.com/local/232289