"วิษณุ"ชี้ กฎหมาย 4 ชั่วโคตรปรามทุจริตข้าราชการได้อย่างแท้จริง เข้มขรก.รับของเกินราคากฎหมายกำหนดมีความผิด ปัดตอบปม "ลูกปรีชา” รับงานกห. บอกคนละเรื่อง
เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 22 ก.ย.59 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดอันเกิดจากประโยชน์ส่วนตนขัดกับผลประโยชน์ส่วนรวมว่า วันนี้เราได้หยิบขึ้นมาใหม่ในความหมายที่ไม่ถึงกับ 7ชั่วโคตร เพียง 4 ชั่วโคตรคือผู้กระทำผิดเป็นโคตรที่ 1 ถ้าเอื้อประโยชน์ต่อลูกเป็นโคตรที่ 2 เอื้อประโยชน์พ่อแม่เป็นโคตรที่ 3 เอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องเป็นโคตรที่ 4 จบแค่นี้ แต่ไม่ใช่ว่าทำผิดและไปลงโทษ 4 ชั่วโคตรเหมือนสมัยก่อน คนที่โดนคือข้าราชการคนเดียว แต่ว่าเอื้อประโยชน์ต่อใคร ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการขณะนี้ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจและมีการตั้ง คณะพิเศษขึ้นมาเพื่อพิจารณา ซึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ตนเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการ ถือเป็นกฎหมายปราบโกงฉบับแท้จริง จึงสมควรจะต้องดูให้รอบคอบ โดยตนได้ขอให้นำขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้ดู พร้อมส่งให้กระทรวงต่างๆ นำไปศึกษา หากคิดว่าหนักไป เบาไป หรือไม่ชัดเจน ปฏิบัติไม่ถูก ก็ให้บอกมาเพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขโดยให้เวลาประมาณเดือนเศษ และเมื่อรวบรวมความเห็นได้และแก้ไขเรียบร้อยแล้ว จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง ก่อนนำเข้าสภาฯเพื่อแก้ไข คาดว่าจะนำเข้าสภาฯได้ภายในปีนี้ และสภาฯจะใช้เวลาจากนี้ไปประมาณ 2 เดือน
เมื่อถามว่ากฎหมายฉบับนี้จะแก้ปัญหาการคอรัปชั่นได้แบบเอาอยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เราตอบไม่ได้ว่าเอาอยู่หรือไม่อยู่ อย่างน้อยก็จะทำให้คนหวาดกลัวว่ามีเครื่องเอ็กซเรย์เราอยู่ มีคนจ้องจับผิดอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะทำต้องทำให้แนบเนียนและระมัดระวังกว่าเดิม และไม่ใช่เรื่องที่จะไปเล่นงานเล็กๆ น้อยๆ แล้วเรื่องใหญ่ๆ ตัวใหญ่ๆ รอดได้ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวไม่ได้เข้มงวดจนถึงขนาดซองจดหมายตราครุฑใบเดียวก็ใช้ไม่ได้ ชาร์จโทรศัพท์นิดหน่อยก็ใช้ไม่ได้ เพราะมันมีข้อยกเว้นอะไรหลายอย่าง ถ้าอะไรเล็กน้อยก็ให้โอกาสครม.หรือกระทรวงออกระเบียบได้ว่าขนาดนี้ยอมให้ทำ ขนาดนี้ไม่ยอมให้ทำ และในกฎหมายนี้ยังรวมถึงใครไปเสนอโปรเจคอะไรเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากกว่า ประโยชน์ต่อส่วนรวมคือถ้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนตัว 100 เปอร์เซ็นต์ซวยแน่ แต่ถ้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย แต่ของตัวเองได้ประโยชน์มากกว่า คนที่เสนอโปรเจคเหล่านี้ก็มีความผิดด้วย
“อย่างการรับของต่อไปจะเข้มงวดมาถึงข้าราชการด้วย ถ้ารับมาแล้วบอกว่ารับส่วนตัวแต่เกินอัตราราคาที่กำหนด ใครได้รับไว้ต้องส่งคืนราชการใน 30 วัน ถ้าส่งคืนถือว่าไม่ผิด ถ้าไม่ส่งผิด ถ้าไม่แน่ใจราคาให้ส่งไปก่อน แล้วค่อยตรวจสอบภายหลัง ทั้งหมดอยู่ในกฎหมายฉบับนี้” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าถึงกรณีมีชื่อบุตรชายพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหมน้องชายนายกรัฐมนตรี มีผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เข้ามารับทำโครงการของกองทัพภาคที่ 3 นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ออกมาบังคับใช้ และถึงจะบังคับใช้แล้ว จะผิดหรือไม่ผิดข้อเท็จจริงตนไม่รู้
เมื่อถามว่ากรณีคนรับงานมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ นายวิษณุ กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ได้มีปัญหา ไม่อย่างนั้นคนนามสกุลเดียวกับคนที่มีอำนาจก็ไม่ต้องทำมาหากินอะไร เพราะคนที่มีอำนาจในการอนุมัติโครงการนั้น จะต้องไม่มีส่วนได้เสียกับโครงการนั้น ต่อให้เป็นลูกหรือญาติเสนอเรื่อง และเจ้าตัวเป็นผู้มีอำนาจในการเซ็นอนุมัติ เจ้าตัวจะเซ็นไม่ได้ ต้องให้คนอื่นเป็นผู้เซ็นอนุมัติ เพื่อเขาจะได้ใช้ดุลยพินิจ เจ้าตัวเองก็ต้องมีน้ำใจไม่ลงไปเซ็นอนุญาตหรือไม่อนุญาต เมื่อถามถึงกรณีภริยาพล.อ.ปรีชาขอใช้เครื่องบินหลวง นายวิษณุ กล่าวว่า ใครก็ยืมได้ อยู่ที่ดุลพินิจของคนให้อนุญาต ซึ่งความผิดจะอยู่ที่คนให้อนุญาตเช่นกัน