ทปอ. เดินหน้าวางระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยปี 61 แบ่งวิธีคัดเป็น โควตา-ข้อสอบกลาง-รับตรง ลดปัญหาค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง-วิ่งรอก เผยงานวิจัยยืนยัน GAT-PAT มีคุณภาพ สามารถคัดเลือกนักเรียนได้ตรงตามศักยภาพที่คณะต้องการ…
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 59 ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ. ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ว่า ที่ประชุมหารือถึงการดำเนินการเกี่ยวกับระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาระบบใหม่ ซึ่งจะเริ่มปีการศึกษา 2561 ตามนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีหลักการคือ ให้เด็กเรียนจนจบชั้น ม.6 ลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง เด็กได้เลือกคณะเรียนตามศักยภาพ และมหาวิทยาลัยได้นักศึกษาตามที่ต้องการ โดยกระบวนการคัดเลือกแบ่งเป็น 1.การคัดเลือกระบบโควตาที่ไม่ใช้การสอบ เช่น โควตาภูมิภาคของมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่คัดเลือกโดยพิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงาน เช่น การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ นักกีฬา ดนตรี เป็นต้น เมื่อนักเรียนยืนยันสิทธิ์แล้ว มหาวิทยาลัยจะส่งรายชื่อให้ ทปอ.เพื่อตัดสิทธิในกระบวนการพรี-เคลียร์ริ่งเฮ้าส์ ภายในเดือน ธ.ค.2560
ศ.นพ.อุดม กล่าวต่อว่า 2.ระบบการคัดเลือกโดยใช้ข้อสอบกลาง ได้แก่ แบบวัดความถนัดทั่วไปหรือ GAT แบบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT วิชาสามัญ 9 วิชา การสอบโอเน็ต รวมทั้งการสอบคัดเลือกของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ซึ่งจะมีการสอบวิชาเฉพาะทางการแพทย์ในช่วงเวลาเดียวกัน เริ่มสอบหลังนักเรียนเรียนจบ ม.6 ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.2561 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเคลียร์ริ่งเฮ้าส์ครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2561 คาดว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ จะรับนักศึกษาได้แล้วกว่าร้อยละ 90 และ 3.ระบบรับตรง โดยจะให้อิสระแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องไม่จัดการสอบข้อเขียนอีก อย่างไรก็ตามระบบการคัดเลือกระบบใหม่นี้ นักเรียนจะสามารถเลือกเรียนได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น หากยังไม่พอใจก็สามารถเลือกเรียนที่ใหม่ได้ แต่ต้องสละสิทธิ์จากที่เดิมก่อน
ประธาน ทปอ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ทปอ.รับทราบการรายงานผลการวิจัยคุณภาพข้อสอบ GAT-PAT ซึ่งผลการวิจัยปรากฏว่า ข้อสอบมีคุณภาพสามารถคัดเลือกเด็กได้ตรงตามศักยภาพที่คณะต้องการ ขณะเดียวกันก็สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัย ที่ประชุม ทปอ.จึงเห็นสมควรที่จะใช้ข้อสอบ GAT-PAT ต่อไป.