เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี(สวทอ.) เพื่อแก้ไขปัญหาสถานศึกษาอาชีวศึกษาขนาดเล็ก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง สวทอ.ได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาของสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน ว่า ได้รับผลกระทบจากนโยบายการรับนักเรียน นักศึกษาของสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐ จึงได้เสนอให้สถานศึกษาของรัฐจำกัดการรับนักเรียนโดยงดการขยายจำนวนรับและหยุดการขยายสถานศึกษาใหม่ รวมถึงขยายสาขาหรือห้องเรียน ยกเว้นสาขาที่ขาดแคลนและเอกชนไม่สามารถจัดได้ และสนับสนุนให้สถานศึกษาของรัฐขนาดใหญ่มุ่งผลิตระดับปริญญา แล้วให้สถานศึกษาขนาดเล็กของรัฐและเอกชนผลิตระดับประกาศนียบัตร ซึ่งในที่ประชุมได้มีข้อตกลงว่า ปีการศึกษา 2560 จะมอบให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)คณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด(อศจ.)และสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชนในจังหวัด จัดทำแผนการรับนักเรียน นักศึกษาร่วมกัน และรายงานให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ทราบเพื่อประกาศเป็นแผนการรับนักเรียนนักศึกษาในภาพรวมของ สอศ.ต่อไป
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า ปัญหาต่อมาคือการที่จำนวนนักเรียนนักศึกษาลดลง ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ รวมถึงการจ้างครูและบุคลากรของสถานศึกษาเอกชน จึงมีข้อเสนอให้รัฐช่วยสนับสนุนกองทุนกู้ยืม อัตราดอกเบี้ยต่ำโดยมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 5 ปี ให้มีการทำรีไฟแนนซ์เพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้สิน รวมถึงช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) 100% และอุดหนุนเงินเดือนครูผู้สอน 100% ด้วย ซึ่งตนได้รับที่จะไปหารือกับปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)และรัฐมนตรีว่าการศธ.
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นไม่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านการจัดการศึกษาเอกชนที่ชัดเจน จึงเสนอให้รัฐกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนและคุ้มครองการลงทุนพื่อการจัดการศึกษาเอกชนที่ชัดเจน เช่น ไม่เก็บภาษีนำเข้าครุภัณฑ์ทางการศึกษา สนับสนุนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)แก่ผู้เรียนทุกคนที่ต้องการกู้ และกำหนดสัดส่วนผู้เรียน ม.ปลายและสายอาชีพที่ชัดเจน รวมถึงแบ่งสัดส่วนผู้เรียนระหว่างอาชีวศึกษารัฐและเอกชนให้ชัดเจนด้วย ปัญหานี้ที่ประชุมเห็นควรเสนอให้รัฐตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้านการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน และกำหนดสัดส่วนผู้เรียนระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพโดยมีเป้าหมายที่ 50:50 แต่ที่ประชุมก็ยอมรับว่าอาจทำได้ยาก ตนจึงให้ความเห็นว่าจะพยายามคงสัดส่วนเท่าเดิม คือ 62:38 ไว้ให้ได้ก่อน นอกจากนี้ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิการเรียนฟรีระหว่างสถานศึกษาเอกชนกับรัฐบาล รวมถึงเงินเดือน ค่าตอบแทน สิทธิสวัสดิการของครูและบุคลากรในสถานศึกษาเอกชน ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้รัฐกำหนดมาตรการดูแลสถานศึกษาเอกชนให้มากขึ้น