ศธ.ปรับหลักสูตรเน้น”ยืดหยุ่น”

KRUPUNMAI SHARE

"รมว.ศธ." ปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยืดหยุ่น ทันสมัย ชัดเจน ทุกโรงเรียนไม่จำเป็นต้องสอนเหมือนกัน แต่มีไกด์ไลน์แต่ละวิชา ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร เล็งเพิ่มหลักสูตรคอมพิวติ้งในระดับประถม ออกแบบเทคโนโลยีระดับมัธยม ดึงวิชาภูมิศาสตร์ออกจากสังคม พร้อมตั้งผู้เชี่ยวชาญจัดทำหลักสูตร ส่วนตำราเรียน 5 ดาว เริ่มวิชาคณิตศาสตร์ก่อน ยกระดับโรงเรียนไอซียู 3,000 โรงต่อปี

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน โดยการปรับปรุงดังกล่าวไม่ใช่การรื้อหลักสูตรแบบถอนรากถอนโคน แต่ตนจะวางแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งในระดับประถมศึกษาจะเพิ่มการเรียนหลักสูตรคอมพิวติ้ง สอนเด็กให้รู้จักการใช้โปรแกรม ไม่ใช่เรียนเพื่อให้คอมพิวเตอร์มาสอนคน ส่วนในระดับมัธยมศึกษาจะเพิ่มหลักสูตรการออกแบบเทคโนโลยี โดยการปรับหลักสูตรจะไม่บังคับให้ทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติตาม แต่เริ่มการปรับหลักสูตรในโรงเรียนที่มีความพร้อมก่อน นอกจากนี้ จะแยกวิชาภูมิศาสตร์ออกมาเป็นวิชาเฉพาะ ไม่รวมอยู่ในวิชาสังคมศึกษา เพราะวิชาภูมิศาสตร์เป็นวิชาที่มีการบูรณาการและเชื่อมโยงกับวิชาอื่นๆ อย่างหลากหลาย เช่น วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ตนได้ตั้งคณะทำงานที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์เข้ามาจัดทำหลักสูตรโดยเฉพาะด้วย

"ต่อจากนี้การบริหารจัดการหลักสูตรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่บังคับว่าทุกโรงเรียนจะต้องสอนเหมือนกัน แต่จะมีคำแนะนำว่าแต่ละวิชาควรสอนอย่างน้อยกี่ชั่วโมง และไม่เกินกี่ชั่วโมง ส่วนการบริหารจัดการหลักสูตรจะเป็นหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ ส่วน ศธ.และ สพฐ.จะเป็นเพียงผู้กำกับ ดูแล และสุ่มตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยการบริหารจัดการหลักสูตร ไม่ใช่เป็นการรวมศูนย์การทำงานจากส่วนกลางเหมือนที่ผ่านมา และจะสามารถเห็นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและการบริหารจัดการของโรงเรียนจากการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือเอ็นที" รมว.ศธ.กล่าว

นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการปรับปรุงตำราเรียนให้เป็นตำราเรียนระดับ 5 ดาว จะเริ่มวิชาคณิตศาสตร์ก่อน ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งทีมวิจัยไปทดลองใช้วิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนแล้ว พร้อมประเมินผลการทดลองใช้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ เพื่อจะนำตำราเรียนคณิตศาสตร์ระดับ 5 ดาวมาใช้จริงในปีการศึกษา 2560 รวมถึงจัดทำมาตรฐานวัดคุณภาพหนังสือเรียนของสำนักพิมพ์ต่างๆ ด้วย เพื่อให้เด็กได้เรียนหนังสือที่ดีและมีมาตรฐานอย่างแท้จริง และในส่วนของการดำเนินโครงการยกระดับโรงเรียนที่อยู่ในภาวะไอซียู หรือโรงเรียนที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการศึกษา ตนได้สั่งการให้ สพฐ.สำรวจโรงเรียนที่อยู่ในภาวะดังกล่าว โดยตั้งเป้ายกระดับคุณภาพให้ได้จำนวน 3,000 โรงต่อปี ซึ่ง สพฐ.ได้นำเสนอโรงเรียนที่มีผลคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ต่ำมาเข้าโครงการก่อน แต่ตนเห็นว่าควรเลือกโรงเรียนที่มีปัญหาทางด้านกายภาพ เช่น ขาดครู ขาดสื่อการเรียนการสอน เป็นต้น ไม่ใช่แค่ดูผลคะแนนโอเน็ตเพียงอย่างเดียว.

Rate this post

KRUPUNMAI SHARE

Check Also

การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยเด็กและเยาวชน

KRUPUNMAI SHARE ...

@ เว็ปไซต์ เพื่อข้อมูลข่าวสารทางด้านการศึกษา www.krupunmai.com @ ครูพันธุ์ใหม่ดอทคอม @