ธีระเกียรติ สั่งปรับวิธีซื้อหนังสือเรียนโครงการเรียนฟรี ให้เด็กทุกคนยืมเรียนแทนซื้อแจกรายคน ยกเว้นแบบฝึกหัดแจกทุกคนเหมือนเดิม เริ่มปีการศึกษา 61 ซื้อทดแทนเฉพาะที่ชำรุดเสียหาย มั่นใจประหยัดงบประมาณได้อื้อ แถมฝึกเด็กให้มีวินัย รู้จักรักษาของ
วันนี้ ( 7ก.พ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้มาหารือเกี่ยวกับการขออุดหนุนงบประมาณในโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ประจำปีการศึกษา 2560 ในหมวดหนังสือเรียนเพิ่มอีกกว่า 100 ล้านบาท จากปัจจุบันที่รัฐจัดสรรงบฯให้ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากต้นทุนในการจัดพิมพ์โดยเฉพาะค่ากระดาษสูงขึ้น ส่งผลให้มีการปรับราคา หนังสือ แต่จากการหารือตนเห็นว่า ควรมีการปรับรูปแบบการจัดซื้อหนังสือเรียนฟรีใหม่ จากการซื้อให้นักเรียนทุกคนมาเป็นซื้อเข้าสถานศึกษาแล้วให้เด็กยืมเรียน ยกเว้นแบบฝึกหัดที่ยังให้ซื้อแจกเป็นรายคนเหมือนเดิม ซึ่งมอบเป็นนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ไปเริ่มดำเนินการแล้ว นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า การจัดซื้อหนังสือให้เด็กยืมเรียนนั้น จะทำได้ในวิชาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหลักสูตรบ่อย ๆ และสถานศึกษาก็สามารถเลือกซื้อได้ตามแนวทางที่ สพฐ.กำหนด โดยสำนักพิมพ์สามารถแข่งขันได้อย่างเสรี และนักเรียนก็สามารถนำหนังสือเรียนติดตัวกลับไปที่บ้านได้ตามปกติ แต่เมื่อจบปีการศึกษาสถานศึกษาจะต้องเรียกคืนกลับมาเพื่อส่งต่อให้รุ่นถัดไป ส่วนกรณีหนังสือเรียนขาดหรือชำรุด สถานศึกษาก็ต้องจัดซื้อทดแทนให้ครบตามจำนวนเด็ก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยทำมาแล้วในอดีต จนมาถึงการเมืองยุคหนึ่งก็มีการเปลี่ยนมาซื้อแจกเด็กเป็นรายคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เราต้องจัดสรรงบฯเพื่อซื้อหนังสือซ้ำ ๆ ทุกปี ปีละกว่า 5,000 ล้านบาท “ถ้าเราให้เด็กยืมเรียน ถึงเวลาซื้อทดแทนบางส่วน เช่น 20% จะทำให้มีเงินเหลือหลายพันล้าน ที่จะสามารถนำไปพัฒนาส่วนอื่น ๆ ได้ และการให้ยืมหนังสือ เด็กก็สามารถนำหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านได้ เมื่อถึงเวลาก็นำหนังสือมาคืน ซึ่งก็เป็นการฝึกวินัยให้เด็กรู้จักรักษาสมบัติ เพื่อส่งต่อให้รุ่นน้องได้ด้วย”นพ.ธีระเกียรติกล่าวและว่า ในปีการศึกษา 2560 การจัดซื้อจะเป็นไปตามปกติเพราะเตรียมการไว้แล้ว เมื่อสิ้นปีเด็กต้องนำหนังสือมาคืน และในปีการศึกษา 2561 ก็ให้ซื้อหนังสือทดแทนบางส่วนแต่ต้องครบตามจำนวนเด็ก ซึ่งตรงนั้นจะทำให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ด้านนายการุณ กล่าวว่า ตนได้มอบให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) ไปออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการยืมหนังสือเรียน แนวทางการยืมหนังสือเรียน การดูแลรักษา เพื่อส่งให้โรงเรียนปฏิบัติต่อไป.