มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ มีแผนดูแลโรงเรียน 1,500 แห่งลำบากซ้ำซ้อน พร้อมใช้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมต่อยอดโอกาสทางการศึกษาเด็กในถิ่นทุรกันดาร
วันนี้(28 ส.ค.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมวิสามัญคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นประธาน เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายโรงเรียนในโครงการฯ เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประมาณ 15,000 โรงทั่วประเทศ โดยในปีนี้มูลนิธิฯ มีแผนที่จะเข้ามาดูแลโรงเรียนจำนวน 1,500 โรงอย่างใกล้ชิด โดยให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ เช่น การอบรมพัฒนาครู การจัดสรรสื่อ ครุภัณฑ์เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน
“ที่ประชุมได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการคัดเลือกโรงเรียนทั้ง 1,500 โรง โดยเน้นโรงเรียนชายขอบ โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขยายโอกาส โดยให้ครอบคลุมในพื้นที่ตามแผนการดำเนินงานให้มีโทรคมนาคมพื้นฐานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะมีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตชุมชน และอินเทอร์เน็ตในสถานศึกษา ทั้งนี้ ที่ประชุมเน้นย้ำว่าขอให้คัดเลือกโรงเรียนที่ลำบากจริง ๆ เช่นโรงเรียน สพฐ.บางแห่งที่ลำบากซ้ำซ้อนทั้งอยู่ห่างไกลและไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งอาจจำเป็นต้องหาแผงโซลาร์เซลเข้าไปช่วย ไม่เช่นนั้นเด็กจะยิ่งขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาไปอีก”ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว
ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ฝ่ายวิชาการโดย รศ.นราพร จันทร์โอชา ได้เสนอนำชุดการเรียนรู้ในโครงการจัดทำสื่อ 60 พรรษา ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้มีสื่อการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 ในโรงเรียนขนาดเล็กในโครงการพระราชดำริ และโรงเรียนขนาดเล็กทั่วไป ดังนั้น จะนำชุดการเรียนรู้ดังกล่าวมาให้โรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นทางจัดการเรียนการสอนเพื่อถ่ายทอดไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กปลายทาง ขณะเดียวกัน จะมีการอบรมพัฒนาครูโรงเรียนต้นทาง ตรวจสอบผังรายการ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้การทำงานให้รองรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการด้วย … อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/education/594814