นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิด เผยความคืบหน้าโครงการคุรุทายาท ว่า ตามที่ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมติให้รื้อฟื้นโครงการคุรุทายาทกลับมาดำเนินการใหม่ โดยให้ถือเป็นโครงการเร่งด่วน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป โดยสาขาวิชาที่จะผลิตครูสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น จะต้องเป็นไปตามความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ และการันตีตำแหน่งหน้าที่ของผู้เข้าร่วมโครงการเมื่อเรียนจบ ดังนั้น จึงกำหนดรูปแบบออกเป็น 2 ประเภท คือกลุ่มผู้เรียนวิชาชีพครูใหม่ กำหนดผลิตตั้งแต่ปี 2558-2572 รวม 10 รุ่น 58,000 คน และกลุ่มนิสิตนักศึกษาครู ที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้อีก 9,500 คน รวม 5 รุ่น ฉะนั้น แนวทางหลังจากนี้ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะหน่วยงานผู้ใช้ครู คือการวางแผนความต้องการใช้ครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อรองรับการผลิตและบรรจุให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานศึกษา รวมทั้งทดแทนอัตรากำลังที่เกษียณอายุราชการในแต่ละปี
"ผมมอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร (สพร.) จัดโครงการจัดทำแผนความต้องการครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขตทั่วประเทศ ได้วางแผนความต้องการครูเป็นรายเขต รายวิชา และรายสถานศึกษา รวมทั้งให้สพร. จัดทำภาพรวมความต้องการครูของสพฐ. ทั้งหมด เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการผลิตครูให้ตรงกับความต้องการของหน่วยงานผู้ ใช้ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะต้องจัดประชุมวางแผนเชิงปฏิบัติการ พร้อมกำหนดรูปแบบการจัดทำแผนความต้องการครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งผมเชื่อว่าหากเรามีแผนความต้องการของครู จะส่งผลให้เด็กที่จบในโครงการคุรุทายาทมีตำแหน่งงานรองรับทันที โดยไม่ต้องเตรียมการขอบรรจุครูเป็นรายปี" เลขาธิการกพฐ.กล่าว
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 16 มิถุนายน 2558