ชื่อเรื่อง การพัฒนาความสามารถในการสร้างความรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รายวิชา
สังคมศึกษา (สาระภูมิศาสตร์) โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้าง
ความรู้
ผู้วิจัย นางสาวคำนึงสุข สุมินทนะ
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างความรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รายวิชาสังคมศึกษา (สาระภูมิศาสตร์) 2) เพื่อพัฒนาความสามารถในการสร้างความรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รายวิชาสังคมศึกษา (สาระภูมิศาสตร์) และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รายวิชาสังคมศึกษา(สาระภูมิศาสตร์) ที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างความรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/6 โรงเรียนบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่จังหวัดนครราชสีมา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ที่กำลังเรียนวิชาสังคมศึกษา 1(สาระภูมิศาสตร์) ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 1 ห้องเรียน มีจำนวนนักเรียน 42 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เนื่องจากโรงเรียนได้จัดแบ่งห้องเรียนแบบคละตามความสามารถ นักเรียนแต่ละห้องมีผลการเรียนไม่แตกต่างกัน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ รายวิชาสังคมศึกษา (สาระภูมิศาสตร์) จำนวน 18 ชั่วโมง แบบประเมินความสามารถในการสร้างความรู้ (ด้านความรู้ความเข้าใจและด้านทักษะกระบวนการเรียนรู้) จำนวน 1 ฉบับ และแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างความรู้ จำนวน 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบ แบบ t – test (One group pretest – posttest design) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
- รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า PARCE Model มีองค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ จุดประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระความรู้และทักษะการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนองและสิ่งสนับสนุน ซึ่งมีกระบวรการเรียนการสอนประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นเตรียมการ (Preparation: P) 2) ขั้นปฏิบัติการ (Action: A) 3) ขั้นสะท้อนความรู้ (Reflection: R) 4) ขั้นสร้างความรู้ (Construction: C) และ 5) ขั้นประเมินผล (Evaluation: E) และประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างความรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1รายวิชาสังคมศึกษา (สาระภูมิศาสตร์) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.42/82.39 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80
- ผลจากการประเมินความสามารถในการสร้างความรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1รายวิชาสังคมศึกษา (สาระภูมิศาสตร์) โรงเรียนบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ปีการศึกษา 2561 ที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้พบว่า นักเรียนที่ได้เรียนรู้โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้ มีคะแนนประเมินความสามารถในการสร้างความรู้หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
- นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รายวิชาสังคมศึกษา(สาระภูมิศาสตร์) ที่ได้เรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถในการสร้างความรู้ มีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมากมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.51 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.66 โดยเฉพาะประเด็นการได้ร่วมมือกันเรียนรู้กับเพื่อนคนอื่นและประเด็นการได้ฝึกปฏิบัติการหาและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง