นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมพิเศษ (ท็อปอัพ) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า การจัดสรรเงินท็อปอัพที่ผ่านมา ถึงจำนวนที่จัดสรรจะไม่เท่ากัน แต่ก็อยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน จึงอาจส่งผลไปถึงคุณภาพการศึกษา เช่น โรงเรียนที่มีคุณภาพการศึกษาต่ำก็ยังคงต่ำอยู่ เนื่องจากอัตราการจัดสรรใกล้เคียงกับโรงเรียนที่มีคุณภาพ ดังนั้นสพฐ. จึงอยู่ในระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดสรรเงินท็อปอัพใหม่ โดยไปที่กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม
1.ไปที่ตัวเด็กโดยพิจารณาว่าเด็กที่ยากจน อยู่ในถิ่นทุรกันดาร บนเขา บนเกาะ ควรจะสนับสนุนอะไรเพิ่มบ้าง
2.ไปที่ตัวครูซึ่งถือว่าสำคัญมาก เนื่องจากสพฐ. ต้องการให้ครูดีครูเก่งกระจายไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร บนเขา บนเกาะ หรือสอนเด็กที่บกพร่องทางร่างกาย และเด็กอัจฉริยะ โดยสพฐ. จะจัดสรรไปที่ตำแหน่ง เมื่อครูไปรับตำแหน่งจะได้รับเงินเพิ่ม พอพ้นจากตำแหน่งจึงเลิกรับ ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ครูอยากไปสอนในพื้นที่เป้าหมายเพิ่มมากขึ้น และ
3.ไปที่โรงเรียน เช่น ตั้งอยู่ห่างไกลก็จะได้รับเงินเพิ่ม เป็นต้น
นายกมล กล่าวว่า ในระหว่างนี้ สพฐ. ได้ทดลองคำนวณทำตัวเลขเฉพาะของสพฐ. แล้ว คาดว่าน่าจะใช้เงินประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปีการศึกษา ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับคุณภาพการศึกษาของเด็กที่จะได้ ตามมา อย่างไรก็ดี แนวทางที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้น เพราะยังต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ อีกพอสมควร เริ่มจากวันนี้ (24 ก.ค.) จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกพฐ. เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงเสนอต่อไปยังที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือที่ประชุมองค์กรหลักศธ. เพราะต้องให้ทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานยอมรับและเห็นชอบตรงกัน จากนั้นจึงเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินการคงไม่ทันปีงบประมาณนี้อย่างแน่นอน