ชื่อเรื่อง การพัฒนาความสามารถทางการฟังและการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้ CGAMES
ผู้วิจัย นางสุชาดา จารงค์
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ(ภาษาอังกฤษ) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและเปรียบเทียบความสามารถทางการฟังและการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้ Cgames ก่อนเรียนและหลังเรียน 2) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้ Cgames กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านตะบิงติงงี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 22 คน เลือกโดยใช้วิธีการสุ่มแบบยกกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน แบบวัดความสามารถทางการฟังภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร แบบวัดความสามารถทางการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และแบบวัดความพึงพอใจต่อการสอนโดยใช้ Cgames การดำเนินการทดลองใช้เวลา 5 สัปดาห์ รวมทั้งหมด 20 ชั่วโมง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน คะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์ และใช้สถิติทดสอบทีแบบกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระต่อกัน (Dependent Samples t-test)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
- ผลการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ Cgames มีความสามารถทางการฟังและการพูด ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน โดยผลการเรียนก่อนเรียนมีคะแนน เฉลี่ยเป็นร้อยละ 26.52 และ 29.55 ผลการเรียนหลังเรียนมีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 69.24 และ 77.73 ตามลำดับ เมื่อทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย พบว่า ความสามารถด้านการฟัง และการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารโดยใช้ Cgames หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .05
- นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ Cgames เพื่อพัฒนาความสามารถทางการฟังและการ พูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าคะแนน เฉลี่ยเท่ากับ 4.32 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.44
ผลของการศึกษาชี้ให้เห็นว่า วิธีการเรียนรู้โดยใช้ Cgames เพื่อพัฒนาความสามารถทางการฟังและการพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่ช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการพัฒนาความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ ส่งผลให้นักเรียนมีพัฒนาการด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษสูงขึ้น และมีความพึงพอใจในการเรียนภาษาอังกฤษด้วยวิธีการเรียนรู้ดังกล่าว