บทคัดย่อ
ชื่อวิจัย การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3
รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ
ด้วยเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ
ผู้วิจัย สุภรัตน์ ศรีบุณยมาลา
สถานศึกษา โรงเรียนบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
ปีที่ศึกษา 2560
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ 3) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะโดยนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนทั้งหมดมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 70 ขึ้นไป 4) เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานกลุ่มของนักเรียนที่เรียนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ และ 5) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 34 คนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่แผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ จำนวน 6 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและสะท้อนผลการปฏิบัติได้แก่ แบบสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูแบบบันทึกประจำวันของครูผู้สอน บันทึกผลหลังการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ แบบฝึกทักษะ และแบบทดสอบท้ายวงจรปฏิบัติการ และ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 40 ข้อ แบบประเมินทักษะการทำงานกลุ่มของนักเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนรูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ตามแนวคิดของ Kemmis and Mc Taggart จำนวน 3 วงจรปฏิบัติการซึ่งมีการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นวางแผนเป็นการวิเคราะห์สภาพปัญหา ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี ตำรา เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสร้างเครื่องมือ 2) ขั้นปฏิบัติการ เป็นการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่สร้างและพัฒนาขึ้น 3) ขั้นสังเกตการณ์ เป็นการใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติการ และ 4) ขั้นสะท้อนผลการปฏิบัติ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ และทักษะการทำงานกลุ่มให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นซึ่งสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ ค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า
- ผลการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้รายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ เป็นรูปแบบการสอนที่ดีมีประสิทธิภาพและเหมาะกับการเรียนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เป็นอย่างยิ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1) การนำเสนอบทเรียนต่อทั้งชั้น เป็นการนำเสนอเนื้อหาใหม่ที่น่าสนใจและทำให้ผู้เรียนกระตือรือร้นอยากเรียนรู้ โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การทบทวนความรู้เดิม ซักถาม การสนทนา สุ่มตัวแทนนักเรียนออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน การใช้ภาพ และวีดีทัศน์ประกอบการอธิบาย 2) การศึกษากลุ่มย่อย เป็นการให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม ๆ ละประมาณ 4 – 5 คน ประกอบด้วย นักเรียนที่เรียนเก่ง นักเรียนที่เรียน ปานกลาง และนักเรียนที่เรียนอ่อน โดยให้แต่ละกลุ่มศึกษาใบความรู้ และตำราเรียน แล้วอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มอย่างสร้างสรรค์ โดยมีผู้วิจัยคอยสังเกตให้คำแนะนำ และปรึกษาอย่างใกล้ชิด จากนั้นจึงสรุปเนื้อหาสาระที่ได้จากการศึกษาและการอภิปรายในกลุ่ม โดยเป็นการสรุปร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และเกิดความคิดรวบยอดในเรื่องที่เรียนมากขึ้น 3) การทดสอบย่อยเป็นการประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียน ซึ่งนักเรียนทุกคนจะต้องทำการทดสอบหลังสิ้นสุดแต่ละวงจรปฏิบัติการ ในการทดสอบแต่ละครั้งทุกคนจะต้องใช้ความสามารถของตนเองไม่ให้ช่วยเหลือกัน 4) การคิดคะแนนความก้าวหน้า เป็นการหาผลต่างระหว่างคะแนนฐานกับคะแนนที่ได้จากการทำแบบทดสอบท้ายวงจรปฏิบัติการ และคะแนนที่ได้จากการทำแบบฝึกทักษะ แล้วนำไปเทียบกับคะแนนความก้าวหน้าเป็นรายบุคคล จากนั้นนำคะแนนความก้าวหน้ารายบุคคลมาเป็นคะแนนกลุ่มเพื่อหาความก้าวหน้าเฉลี่ยของกลุ่มเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ และ5) ทีมที่ได้รับการยกย่อง เป็นการรวมคะแนนความก้าวหน้าของสมาชิกแต่ละคนแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยเป็นความก้าวหน้าของกลุ่มเทียบกับเกณฑ์ที่ได้รับการยกย่องซึ่งมี 3 ระดับ คือ ทีมเก่ง ทีมเก่งมาก และทีมยอดเยี่ยม
- ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
- ผลการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยเท่ากับ 33.80 คิดเป็นร้อยละ 84.51 และมีนักเรียน จำนวน 34 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม
- ผลการพัฒนาทักษะการทำงานกลุ่มของนักเรียนที่เรียนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะพบว่าในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
- ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนรายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 รหัสวิชา ง23102 เรื่อง การวิเคราะห์และออกแบบโปรแกรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคผลสัมฤทธิ์ (STAD) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ พบว่านักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด