เรื่อง รายงานผลการจัดประสบการณ์แบบโครงการเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการ
ทางวิทยาศาสตร์ของเด็กระดับปฐมวัย (อายุ 3 – 4 ปี) ภาคเรียนที่ 2
ปีการศึกษา 2561
ผู้ศึกษา นางสาวพัชรินทร์ ชิณเฮือง
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาประสิทธิภาพของแผนการจัดประสบการณ์แบบโครงการเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กระดับปฐมวัย (อายุ 3 – 4 ปี) ตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดประสบการณ์แบบโครงการเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กระดับปฐมวัย (อายุ 3 – 4 ปี) เพื่อศึกษาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กระดับปฐมวัย โดยการจัดประสบการณ์แบบโครงการ และเพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยการจัดประสบการณ์แบบโครงการ ระหว่างก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เด็กระดับปฐมวัยชาย – หญิง ที่มีอายุระหว่าง 3 – 4 ปี ที่กำลังศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกระบาก อำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง ( Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ 1) แผนการจัดประสบการณ์แบบโครงการเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กระดับปฐมวัย (อายุ 3 – 4 ปี) จำนวน 29 แผน จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการมะม่วงบ้านเรา และโครงการต้นไม้ 2) แบบประเมินทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กระดับปฐมวัย อายุ 3 – 4 ปี มีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง .20 ถึง .60 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.859 สถิติ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าเฉลี่ยร้อยละ ค่าดัชนีประสิทธิผล และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t – test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
- แผนการจัดประสบการณ์แบบโครงการเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กระดับปฐมวัย (อายุ 3 – 4 ปี) ที่ผู้ศึกษาค้นคว้าสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ 86/85.35 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
- ดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดประสบการณ์แบบโครงการเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กระดับปฐมวัย (อายุ 3 – 4 ปี) มีค่าเท่ากับ7156 หรือคิดเป็นร้อยละ 71.56
- เด็กระดับปฐมวัยมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จำแนกรายทักษะ โดยทักษะการสังเกตสูงขึ้นร้อยละ 84.13 ทักษะการจำแนกประเภทสูงขึ้นร้อยละ 76.19 และทักษะการสื่อความหมายสูงขึ้นร้อยละ 92.06
- เด็กระดับปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์แบบโครงการ มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นจากก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01