ชื่อเรื่อง | รายงานผลการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อพัฒนาทักษะภาษาด้านการฟังและการพูดของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 4 ปี) |
ผู้รายงาน | นางสาวทัศนีย์ แสงเลิศ |
ปีการศึกษา | 2561 |
บทคัดย่อ
รายงานผลการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อพัฒนาทักษะภาษาด้านการฟังและการพูดของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 4 ปี) มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อ 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพผลการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อพัฒนาทักษะภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 4 ปี) ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อพัฒนาทักษะภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 4 ปี) และ3) เพื่อเปรียบเทียบทักษะภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 4 ปี) ก่อนและหลังการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กปฐมวัยชายหญิง ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 4 ปี) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 10 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา มี 3 ชนิด ได้แก่ 1) หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อพัฒนาทักษะภาษาด้านการฟังและการพูดของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 4 ปี) จำนวน 8 เล่ม 2) แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อพัฒนาทักษะภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 4 ปี) จำนวน 8 แผน และ 3) แบบทดสอบทักษะด้านการฟังและการพูด จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
- ผลการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อพัฒนาทักษะด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 4 ปี) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 89.58/87.50 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
- ค่าดัชนีประสิทธิผลของการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อพัฒนาทักษะภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 4 ปี) มีค่าเท่ากับ 0.6478 แสดงว่า เด็กมีความรู้เพิ่มขึ้นจากก่อนใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ 64.78 หรือคิดเป็นร้อยละ 64.78
- การเปรียบเทียบทักษะภาษาด้านการฟังและการพูด ของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 1 (อายุ 4 ปี) ก่อนและหลังการใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ พบว่า เด็กที่เรียนโดยใช้หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แสดงว่า เด็กมีผลการพัฒนาทักษะภาษาด้านการฟังและการพูดสูงขึ้น