ชื่อเรื่อง รายงานพัฒนาชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต “เพศศึกษา”
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD
ชื่อผู้ศึกษา นางสาวปารียา ศรีช่วย
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2561
———————————————————————————————————————
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างและพัฒนาชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต “เพศศึกษา” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน และ 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้ ชุดกิจกรรมแนะแนว เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต “เพศศึกษา” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๔๓ จังหวัดสงขลา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 34 คน ได้มาโดยการเลือกแบบห้องเรียน (Cluster Selection) เครื่องมือที่ใช้ ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้รายชั่วโมง จำนวน 18 แผน ๆ ละ 1 ชั่วโมง ชุดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต “เพศศึกษา” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 7 เล่ม แบบทดสอบ จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจ แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่า t (t – dependent ) ผลการศึกษาพบว่า :
- ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต “เพศศึกษา” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD โดยภาพรวมมีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 87.49/85.34 รายเล่มมีประสิทธิภาพเท่ากับ 88.76/85.90 , 87.80/85.90 , 86.63/84.40 , 87.52/84.10 , 85.87/85.60 , 87.50/84.70 และ 88.38/86.80 ตามลำดับ
- ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต “เพศศึกษา” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
- ความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต “เพศศึกษา” สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับ มาก ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.31