ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้วางรูปแบบกิจกรรมสำหรับการปรับลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ตามนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ โดยช่วงเช้าจะให้เด็กได้เรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาหลัก ส่วนภาคบ่ายจะเป็นกิจกรรมที่เน้นปฏิบัติแบบบูรณาการ เช่น กิจกรรมเสริมทักษะผู้เรียนด้านการงานพื้นฐานอาชีพ วาดรูป ขณะเดียวกัน บางโรงเรียนอาจเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ใหม่ โดยจัดชมรมให้นักเรียน อาทิ ชมรมดนตรี จิตอาสา เป็นต้น ซึ่งทุกกิจกรรมจะเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งนี้นโยบายการลดเวลาเรียนและเพิ่มเวลารู้ไม่ได้สร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง เพราะค่ากิจกรรมต่างๆ สพฐ.จะสนับสนุนงบประมาณให้ ส่วนแผนการดำเนินงานต่อจากนี้จะหารือกับ รมว.ศึกษาธิการ ในการกำหนดแผนขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดย สพฐ.ได้ตั้งคณะทำงานพร้อมจัดทำคู่มือการบริหารจัดการเรื่องการลดเวลาเรียน ให้แก่สถานศึกษาได้นำไปเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติ รวมถึงตารางกิจกรรมการเรียนการสอนให้ครูได้นำไปประยุกต์ใช้ ขณะเดียวกัน จะเปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนด้วยว่าอยากได้กิจกรรมรูปแบบไหน และในเร็วๆนี้จะเรียกประชุม ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต และโรงเรียนประถมศึกษาที่นำร่องในเรื่องดังกล่าวมารับฟังแนวปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จในอนาคต
ด้านนายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า สำหรับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ศึกษาและมีแนวคิดในการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อให้เกิดทักษะ การคิด วิเคราะห์ และเรียนรู้ที่หลากหลาย นอกเหนือจากที่ต้องเรียนในชั้นเรียน
ขณะที่ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่นโยบายนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมควรมีทั้งวิชาชีพ และวิชาที่เด็กชอบ ดังนั้น สพฐ.ต้องออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้โรงเรียนสังกัด สพฐ.กว่า 38,000 โรงเรียน จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กถึง 20,000 กว่าโรง และมีครูไม่ครบชั้น โดยโรงเรียนเหล่านี้รัฐควรเข้ามาดูแลและพัฒนาโดยเฉพาะการอบรมพัฒนาครู.
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/522362