ชื่อผลงาน การประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการมีส่วนร่วม ของโรงเรียนเทศบาล 1
(บ้านสะเตง)
ผู้วิจัย นายอับดุลซอมะ เจะหลง
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองแกนนำ นักเรียนแกนนำ ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และใช้เป็นกลุ่มเป้าหมายในการวิจัย รวมจำนวน 230 คน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูที่ปฏิบัติงานในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ปกครองแกนนำ นักเรียนแกนนำ ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนในโครงการ รวมจำนวน 16 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลจำนวน 7 ฉบับ ฉบับที่ 1-4 เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่าตามแบบของลิเคิร์ท (Likert) ฉบับที่ 5-6 เป็นแบบบันทึกทักษะการปฏิบัติงาน และแบบบันทึกการประเมินคุณลักษณะนักเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และฉบับที่ 7 เป็นแบบสัมภาษณ์ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละ
ผลการวิจัย พบว่า
- ความเหมาะสมด้านบริบทของการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเตง) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์ การประเมิน จากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ พบว่าโรงเรียนตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำปัตตานี มีพื้นที่เหมาะสมในการทำเกษตร สามารถใช้พื้นที่ของโรงเรียนให้เกิดประโยชน์ โดยจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ เริ่มจากการทำปุ๋ยหมัก ปลูกผักสวนครัวเพื่อเป็นอาหารกลางวัน แล้วได้ขยายกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่สถานศึกษาและตัวนักเรียน
- ความพอเพียงหรือเหมาะสมด้านปัจจัยนำเข้าของการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเตง) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน จากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ พบว่า การดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง มีความพร้อมด้านสถานที่ งบประมาณ บุคลากร และผู้บริหารสถานศึกษา
- การปฏิบัติด้านกระบวนการของการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเตง) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์ การประเมิน จากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ พบว่ามีการเตรียมการอย่างดี เป็นไปตามกระบวนการในขั้นวางแผน ขั้นปฏิบัติตามแผน ขั้นประเมินผล และขั้นสรุปรายงานผล โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
- ผลการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการมีส่วนร่วมของโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเตง) ด้านผลผลิต มีดังนี้
4.1 ความพึงพอใจของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองแกนนำ นักเรียนแกนนำ ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนในโครงการที่มีต่อโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเตง) ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.2 ผลการประเมินการปฏิบัติงานของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 –ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเตง) ในภาพรวมอยู่ในระดับดี ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน
4.3 ผลการประเมินคุณลักษณะผู้เรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านสะเตง) ในภาพรวมอยู่ในระดับดี ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน
จากการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผลผลิต พบว่า กิจกรรมตามโครงการสร้างความประทับใจ สร้างความพึงพอใจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะในการทำงาน รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเกิดรายได้ให้กับครอบครัว เสริมสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง