ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง ทศนิยมและ
เศษส่วน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นางสาวปาณิสรา ศรีประมาณ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น
ปีที่พิมพ์ 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการจัดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง ทศนิยมและเศษส่วน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง ทศนิยมและเศษส่วน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง ทศนิยมและเศษส่วน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 คือ 3.1) เพื่อศึกษาความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง ทศนิยมและเศษส่วน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับจากการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการเรียนรู้เชิงรุก 3.2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ระหว่างก่อนและหลังที่ได้รับจากการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการเรียนรู้เชิงรุก และ 3.3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการเรียนรู้เชิงรุก 4) เพื่อปรับปรุงรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง ทศนิยมและเศษส่วน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 โรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 36 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนรายวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษา เกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานการจัดการเรียนการสอนรายวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) แบบวิเคราะห์เอกสารข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 3) รูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 4) แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการสอน 5) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 20 แผน 6) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัย จำนวน 40 ข้อ 7) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เป็นแบบอัตนัย จำนวน 5 ข้อ และ 8) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน จำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานการทดสอบค่าที (t-test) แบบ Dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1) ผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับนโยบายการศึกษา แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ แนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการจัดการเรียนรู้เชิงรุก พบว่า จากการสัมภาษณ์ครูผู้สอนคณิตศาสตร์ และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า วิธีการสอนที่เป็นอยู่ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการสอนด้วยการบรรยาย เน้นเนื้อหามากกว่าการฝึกให้ผู้เรียนได้ลงมือคิด มีผลทำให้ผู้เรียนขาดโอกาสในการฝึกทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหาและการคิดได้อย่างมีเหตุผล รูปแบบการเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของครูผู้สอนยังคงใช้รูปแบบการสอนแบบยึดครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher-Centered Method) เป็นวิธีสอนที่เน้นบทบาทของครูเป็นส่วนใหญ่ ผู้เรียนมีส่วนร่วมน้อยมากหรือไม่มีเลย และครูผู้สอนมีการนำสื่อเข้ามาใช้น้อย สื่อไม่มีความหลากหลาย ขาดความน่าสนใจ
2) รูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการเรียนรู้เชิงรุก สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระความรู้ ทักษะกระบวนการ สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม สิ่งสนับสนุนและหลักการตอบสนอง ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนมี 5 ขั้นตอนคือ ขั้นที่ 1 สร้างแรงจูงใจ (Motivation : M) ขั้นที่ 2 ระบุสถานการณ์ปัญหา (Problem Identification : P) ขั้นที่ 3 การทำความรู้ให้ชัดเจน (Obvious Knowledge: O) ขั้นที่ 4 อธิบายขยายความรู้ (Explanation: E) และ ขั้นที่ 5 ประเมินผลโดยวิธีที่หลากหลาย (Evaluation: E) และตามความคิดเห็นของผู้ทรงวุฒิมีความเหมาะสม ร้อยละ 92.50 และมีความเป็นไปได้ ร้อยละ 93.45 และแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวการเรียนรู้เชิงรุก สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รายวิชาคณิตศาสตร์ อยู่ในระดับดี
3) ผลการใช้รูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง ทศนิยมและเศษส่วน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า 3.1) ความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน ที่ได้รับจากการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการเรียนรู้เชิงรุก มีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์คิดเป็นร้อยละ 89.47 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 3.2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง ทศนิยมและเศษส่วนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังเรียนด้วยรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการเรียนรู้เชิงรุกสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3.3) ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการเรียนรู้เชิงรุกอยู่ในระดับมาก
4) จากการนำข้อมูลผลการทดลองใช้รูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ตามแนวการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง ทศนิยมและเศษส่วน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้มีการเพิ่มเติมสิ่งสนับสนุน คือ การยืดหยุ่นเวลาในการเรียน ให้เหมาะสมกับการจัดกิจกรรมและหลักการตอบสนอง คือ การดูแลให้นักเรียนทุกคนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้งในกลุ่มย่อยและทั้งชั้นเรียนให้มากขึ้น