ชื่อเรื่อง การบริหารจัดการศึกษาต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นวิสาหกิจชุมชน : กรณีศึกษา
ผลิตภัณฑ์จากเส้นกระดาษ ของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
อำเภอท่าม่วง
ชื่อผู้ศึกษา พนาวรรณ บุญจีน
บทคัดย่อ
ในการศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาการบริหารจัดการการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นวิสาหกิจชุมชน ในกรณีศึกษาผลิตภัณฑ์จากเส้นกระดาษ ของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอท่าม่วง 2)ศึกษาความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของครู/ผู้ปฏิบัติงาน กศน. อำเภอท่าม่วง และสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากเส้นกระดาษ ที่มีต่อการบริหารจัดการการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นวิสาหกิจชุมชน กรณีศึกษาผลิตภัณฑ์จากเส้นกระดาษ ของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอท่าม่วง และ3)ศึกษาความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อยืนยันความเป็นไปได้ของการบริหารจัดการการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากเส้นกระดาษ สำหรับประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้ปฏิบัติงาน/ครู และกรรมการวิสาหกิจชุมชน และผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เชี่ยวชาญ การสุ่มกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีใช้เลือกแบบเจาะจง และเลือกแบบอย่างง่าย ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงาน/ครู และกรรมการวิสาหกิจชุมชน จำนวน 70 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 21 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และความถี่
ผลการศึกษา พบว่า
ผู้ปฏิบัติงาน/ครู และกรรมการวิสาหกิจชุมชน มีความคิดเห็นต่อการพัฒนาสู่ความเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากเส้นกระดาษ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อจำแนกตามรายด้าน พบว่า ผู้ปฏิบัติงาน/ครู และกรรมการวิสาหกิจชุมชนมีความคิดเห็นด้วยอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน และด้านที่มีค่าเฉลี่ยลำดับแรก คือ ด้านการมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ เมื่อพิจารณาแต่ละรายด้านเป็นรายข้อลำดับแรก พบว่า กศน.อำเภอท่าม่วงมีการจัดการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อสู่วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากเส้นกระดาษ โดยให้มีการหาแนวทางในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม กศน.อำเภอท่าม่วงมีการจัดการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อสู่วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากเส้นกระดาษ โดยให้มีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงาน การรับผลประโยชน์ที่ทำให้มีความคุ้นเคยสนิทสนมกับบุคคลอื่น มีส่วนร่วมในการประเมินผลการปฏิบัติงานของสมาชิกกลุ่ม ผู้อำนวยการศูนย์ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอท่าม่วง เป็นผู้นำที่มีการมุ่งเน้นย้ำในการสร้างพันธกิจระหว่างภาคีเครือข่าย
ความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เชี่ยวชาญต่อความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาสู่ความเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากเส้นกระดาษ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาแต่ละรายด้านเป็นรายข้อลำดับแรก พบว่าศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอท่าม่วงมีการจัดการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อสู่วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากเส้นกระดาษ โดยให้มีการหาแนวทางในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอท่าม่วงมีการจัดการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อสู่วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากเส้นกระดาษ โดยให้มีการสนับสนุนด้านการเงินในการดำเนินงานกลุ่ม การรับผลประโยชน์ ที่ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาต่อเนื่อง หรือการผลิต/การแปรรูปเพิ่มขึ้น มีส่วนร่วมในการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้นำและคณะกรรมการกลุ่ม และผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอท่าม่วง เป็นผู้นำที่มีการมุ่งเน้นย้ำในการสร้างพันธกิจระหว่างภาคีเครือข่าย