พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีมอบหมายให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.)ไปวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการเรียนซ้ำชั้น ว่า เรื่องนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งคงต้องพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง นักจิตวิทยาเด็ก ว่า หากจะดำเนินการจริง จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง มีผลดี ผลเสียอย่างไรกับเด็ก ทั้งนี้แนวทางที่ตนคิดไว้ ไม่ใช่การซ้ำทุกชั้นปี แต่จะเป็นการเรียนซ้ำชั้นเป็นช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ช่วงชั้นที่ 2 ป.6 และช่วงชั้นที่ 3มัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยก่อนจะให้ซ้ำชั้น จะให้เด็กมีโอกาสได้ซ่อมก่อน ไม่ใช่ตกทันที ขณะเดียวกันจะปรับปรุงมาตรฐานการสอบซ่อม จากเดิมที่แต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับผู้บริหารนั้นก็ต้องหาวิธีการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกโรงเรียน เด็กที่สอบผ่าน ต้องมีความรู้จริง ถ้าเขียนหนังสือไม่ได้ก็ต้องให้เขียนจนผ่าน
“เชื่อว่าครูทุกคนพร้อมที่จะปรับปรุงตัว ถ้ารู้ว่าสิ่งที่ทำในอดีตไม่ดี ก็ต้องปรับ และแนวคิดที่ผมตั้งใจจะทำ คือไม่ใช่เมื่อเด็กสอบตก และต้องเรียนซ้ำชั้นในทันที แต่จะให้โอกาสเด็กได้สอบซ่อมในรายวิชาที่ตกก่อน และมาดูผลอีกครั้งในปีสุดท้ายของช่วงชั้น ยกตัวอย่าง เช่น เด็ก ป.1ถ้า สอบไม่ผ่านก็ให้โอกาสซ่อมก่อน แต่ถ้าถึง ป.3 แล้วยังสอบตกอีก ก็จะให้โอกาสซ่อมในรายวิชาที่สอบไม่ผ่าน แต่จะต้องเป็นวิธีการซ่อมแบบเข้มข้นและมีมาตรฐาน ถ้ายังไม่ผ่านอีกก็จะต้องเรียนซ้ำชั้นในระดับชั้นสุดท้ายของช่วงชั้นนั้น พูดง่าย ๆ ก็คือโรงเรียนจะต้องดูแลเด็ก และพัฒนาการเรียนการสอนในแต่ละชั้นปีให้มีมาตรฐาน เพราะเมื่อถึงป.3 ป.6 และม.3 ศธ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะลงไปกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ผลิตเด็กที่มีคุณภาพจริง ๆ ” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
รมว.ศธ.กล่าวว่า เชื่อว่าแนวคิดนี้จะทำให้ครูและเด็กกระตือรือร้นขึ้น ผู้ปกครองเองก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนของลูกมากขึ้น เราต้องสร้างความรับผิดชอบทุกระดับ โดยเรื่องนี้ไม่ได้เร่งรีบ รอให้สพฐ. สรุปข้อดีข้อเสีย และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนก่อนตัดสินใจดำเนินการ นอกจากนั้นในปี 2559 ตนจะลงไปดูเรื่องกิจกรรมที่สร้างวินัยให้กับเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาล โดยทราบว่าแต่ละโรงเรียนทำอยู่แล้ว แต่จะไปดูว่าทำแค่ไหน ทำแล้แต่อาจจะยังเพียงแต่อาจจะยังไม่พอ จะไม่ใช้วิธีการยัดเยียด แต่ให้ใช้วิธีให้เด็กทำจนเป็นนิสัยและมีวินัยโดยไม่รู้ตัว
ที่มา http://www.naewna.com/local/194012